payup.video

Surfe.be - Banner advertising service

MyBanner

วันอังคารที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

ทำเครื่องปั่นไฟ DC 12 โวลต์แบบมือหมุน


        ผู้เขียนได้สั่งซื้อมอเตอร์กระแสตรงรอบต่ำแบบ 20 รอบต่อนาทีมา 1 ตัว เป็นมอเตอร์ DC 12 โวลต์ เป็นมอเตอร์รอบต่ำที่มีการติดตั้งอุปกรณ์ทดรอบมาเรียบร้อยแล้ว เดิมทีตั้งใจว่าจะนำมาเป็นเป็นอุปกรณ์ผลิตกระแสไฟฟ้าสำหรับกังหันลม (generator)  แต่เมื่อทดลองหมุนมอเตอร์ดูพบว่าจะต้องใช้แรงบิดค่อนข้างมากแกนมอเตอร์จึงจะหมุน ซึ่งไม่เหมาะสำหรับใช้กับกังหันลม ผู้เขียนจึงนำมาตัดแปลงทำเป็นเครื่องปั่นไฟฟ้า 12 โวลต์แบบมือหมุน เนื่องจากได้ทดลองหมุนมอเตอร์ดูและวัดความต่างศักดิ์ของไฟฟ้าดู พบว่าเพียงแต่หมุนเบาๆ ก็ได้ไฟฟ้าเกิน 18 โวลต์แล้ว ซึ่งพอสำหรับการชาร์จลงแบตเตอรีพอดี

เครื่องปั่นไฟฟ้าแบบมือหมุนสภาพพร้อมใช้งาน
 วิธีทำ

ผู้เขียนนำมือหมุนของที่บดเนื้อเก่าที่ไม้ได้ใช้งาน มาประกอบเป็นมือหมุนของเครื่องปั่นไฟ โดยใช้ดุมขับสายพานของมอเตอร์จักรเย็บผ้าไฟฟ้ามาใช้ตะไบฝนให้พอดีกับรูของมือหมุนที่บดเนื้อ แล้วประกอบเข้ากับแกนมอเตอร์รอบต่ำที่เตรียมไว้ ซึ่งรูของดุมขับสายพานของมอเตอร์จักรเย็บผ้า จะมีขนาดพอดีกับแกนมอเตอร์ และมีสกรูล็อกแกนมอเตอร์อยู่ในตัว

ตัวมอเตอร์รอบต่ำที่ประกอบกับมือหมุนไว้แล้ว ผู้เขียนจะนำมาตั้งบนกระบอกไม้ไผ่มาทำเป็นแท่นหรือทาวเวอร์รับตัวมอเตอร์ ใช้บุ้งถูให้เป็นร่องพอดีกับตัวมอเตอร์ แล้วใช้แผ่นเหล็กบางๆ ล็อกกันมอเตอร์เคลื่อนอีกทีหนึ่ง กระบอกไม้ไผ่ดังกล่าวจะติดตั้งบนแผ่นกระดาน ซึ่งใช้เป็นฐานของเครื่องปั่นไฟฟ้าแบบมือหมุนที่จัดทำขึ้น
ส่วนประกอบของแท่นเครื่องปั่นไฟฟ้าแบบมือหมุน
จากนั้นจะทำการต่อสายไฟจากมอเตอร์มาต่อเข้ากับลูกเต๋าสำหรับต่อสายไฟคู่หนึ่ง แล้วนำลูกเต๋าสำหรับต่อสายไฟอีกคู่หนึ่งมาติดตั้งไว้ข้างๆ แล้วนำไดโอดมาติดตั้งในช่องต่อสายไฟของลูกเต๋าสำหรับต่อสายไฟที่อยู่ติดกัน ซึ่งจุดนี้จะต่อเข้ากับขั่วบวกของมอเตอร์ ส่วนช่องของลูกเต๋าสำหรับต่อสายไฟที่อยู่ห่างกัน จะใช้สายไฟเชื่อมต่อเข้าด้วยกันดังรูป ถ้าดูจากในรูปถัดไปช่องของลูกเต๋าสำหรับต่อสายไฟที่มีเข็มของมัลติมิเตอร์เสียบอยู่ จะไปช่องที่ต่อไฟไปใช้งาน
ลูกเต๋าต่อสายไฟด้านซ้าย ต่อมาจากมอเตอร์ ด้านขวาสำหรับต่อไปใช้งาน 
ทดลองหมุนเครื่องปั่นไฟ
สำหรับสายไฟที่ต่อไปใช้งาน เนื่องจากระบบไฟฟ้าที่บ้านผู้เขียนเป็นระบบไฟฟ้ากระแสตรง 12 โวลต์ และใช้ช่องเสียบที่จุดบุหรี่รถยนต์เป็นปลั๊กไฟ ดังนั้นผู้เขียนจึงนำปลั๊กตัวผู้สำหรับใช้กับที่จุดบุหรี่รถยนต์มาต่อที่ช่องนำไฟไปใช้ของลูกเต๋าสำหรับต่อสายไฟที่ติดตั้งไว้ (ต่อขั้วบวก ขั้วลบให้ถูกต้อง) หลังจากประกอบอุปกรณ์ครบทุกอยู่ หน้าตาของเครื่องปั่นไฟฟ้าแบบมือหมุนที่ได้ก็จะมีลักษณะดังรูปแรกสุด
ต่ออุปกรณ์และสายไฟสำหรับนำไฟไปใช้
การนำไปใช้ประโยชน์

การนำเครื่องปั่นไฟฟ้าแบบมือหมุนที่จัดทำขึ้นนี้ ไปผลิตไฟฟ้า จะทำได้โดยนำปลั๊กสำหรับใช้กับที่จุดบุหรี่รถยนต์แบบตัวผู้ที่ต่อไว้กับเครื่องปั่นไฟ ไปเสียบเข้ากับปลั๊กที่จุดบุหรี่รถยนต์ที่ผู้เขียนใช้เป็นปลั๊กไฟของระบบไฟฟ้ากระแสตรง 12 โวลต์ที่ใช้เป็นไฟฟ้าบ้านในปัจจุบัน จากนั้นจะเปิดมิเตอร์เพื่อเห็นค่าโวลต์ของกระแสไฟที่ผลิตได้ แล้วใช้มือหมุนเครื่องปั่นไฟให้เกิดกระแสไฟฟ้าปรากฏบนหน้าปัดของมิเตอร์อย่างน้อย 13 โวลต์ขึ้นไป ไฟฟ้าที่เกิดจากจากหมุนเครื่องปั่นไฟฟ้าดังกล่าว จะไหลเข้าไปเก็บในแบตเตอรี่ของไฟฟ้าบ้านที่ผู้เขียนได้จัดทำไว้ สำหรับสำรองใช้ยามค่ำคืน

เครื่องปั่นไฟแบบมือหมุนที่จัดทำขึ้นนี้จะใช้ในกรณีที่เกิดฝนตกต่อเนื่อง และท้องฟ้าปิดติดต่อกันหลายวัน ทำให้ปริมาณไฟฟ้าที่สำรองในแบตเตอรี่ไม่เพียงพอสำหรับการใช้งาน ในการหมุนปั่นไฟแต่ละรอบจะให้ปริมาณกระแสไฟฟ้าประมาณ 100 ถึง 200 มิลลิแอมป์
การใช้งานจริง

วันพุธที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

โซลาร์เซลล์แผงแรก กับการเริ่มใช้ระบบไฟฟ้ากระแสตรง 12 โวลต์



ครอบครัวผู้เขียนได้รับบริจาคแผงโซลาร์เซลล์จำนวน 1 แผงจากญาติคนหนึ่ง เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม พ.. 2555 (2012) เป็นแผงโซลาร์เซลล์แบบโพลี่คริสตัลไลน์ขนาด 120 วัตต์ แผงโซลาร์เซลล์แผงนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการจัดทำระบบไฟฟ้ากระแสตรง 12 โวลต์สำหรับเป็นระบบไฟฟ้าภายในบ้าน ทดแทนระะบบไฟฟ้า 220 โวลต์จากระบบสายส่งเดิม ผู้เขียนได้เขียนบทความเกี่ยวกับการจัดทำระบบไฟฟ้ากระแสตรง 12 โวลต์ เป็นระบบไฟฟ้าภายในบ้านโดยละเอียดในบล็อกเกอร์ชื่อ “ชีวิต 12 โวลต์” ซึ่งท่านที่สนใจสามารถติดตามเรื่องราวในบล็อกดังกล่าวได้
และนับตั้งแต่ครอบครัวผู้เขียนได้รับบริจาคแผงโซลาร์เซลล์แผงนี้มา ทำให้บ้านผู้เขียนมีไฟฟ้าเพียงพอสำหรับแสงสสว่างยามค่ำคืน เพียงพอสำหรับการดูทีวีด้วยจอทีวี 12 โวลต์ (ทีวีสำหรับรถยนต์) และเพียงพอสำหรับการใช้คอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊ค ซึ่งทั้งหมดต้องมีการนำอุปกรณ์อิเลคทรอนิกส์มาประยุกต์ใช้ แต่กว่าจะสามารถใช้การได้ดี หลอดไฟหรือดวงไฟสำหรับให้แสงสว่างไหม้ไปหลายดวง อุปกรณ์อิเลตทรอนิกส์ที่นำมาประยุกต์ใช้ไหม้ไปหลายตัว ซึ่งเรื่องราวทั้งหมด จะทยอยเขียนเล่าในบล็อกเกอร์ “ชีวิต 12 โวลต์” ซึ่งสามารถติดตามเนื้อหาได้เป็นระยะๆ

ตัวอย่างดวงไฟให้แสงสว่างที่ใช้พลังงานจากแผงโซลาร์เซลล์
>

วันพุธที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

แก๊สชีวมวล หนทางหนึ่งของการหาพลังงานทดแทน


เป็นเวลาติดต่อกันหลายเดือนที่บ้านของผู้เขียน ใช้วิธีเดินเครื่องปั่นไฟเพื่อสูบน้ำทั้งน้ำใช้ และน้ำสำหรับการเกษตร และเก็บไฟฟ้าส่วนหนึ่งไว้ในโคมไฟตุกตา คิดเป็นค่าใช้จ่ายในการซื้อน้ำมันปั้นไฟฟ้าในช่วงเวลานั้น เกือบจะถึงหลักแสนบาทเลยทีเดียว ทำให้ต้องคิดหาวิธีการที่จะทำให้เครื่องปั่นไฟที่ซื้อมา ให้สามารถเดินเครื่องได้โดยไม่ต้องใช้น้ำมัน ซึ่งวิธีการหนึ่งที่คิดไว้ก็คือ การใช้แก๊สชีวมวล (Gasifier)


มีเรื่องเล่าขานที่ผู้เขียนได้ยินมาตั้งแต่สมัยยังเป็นนักเรียน ว่าในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่น้ำมันขาดแคลน มีคนทำให้รถยนต์ที่ใช้น้ำมันวิ่งได้โดยการติดตั้งเตาเผาฟืน แล้วเอาควันไฟที่ได้ไปเดินเครื่องรถยนต์แล่นไปได้โดยไม่ต้องใช้น้ำมัน ทุกวันนี้ในเมืองไทยยังพอมีคนเก็บรักษาซากรถยนต์ใช้ฟืนดังกล่าวไห้คนรุ่นหลังได้ศึกษา
  
หนทางไม่ง่ายอย่างที่คิด
 
ผู้เขียนได้ลองสอบถามช่างซ่อมรถมอเตอร์ไซด์ และช่างซ่อมรถยนต์ตามร้านซ่อมในท้องถิ่นที่ผู้เขียนอาศัยอยู่ ปรากฏว่าช่างเหล่านี้ตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า ไม่มีทางทำได้ และไม่เคยได้ยินเรื่องนี้มาก่อน
ผู้เขียนไม่ได้ละความพยายาม เนื่องจากยุคนี้เป็นยุคแห่งข่าวสารข้อมูล ทำให้การค้นคว้าหาข้อมูลเกี่ยวกับแก๊สชีวมวลทำได้ไม่ยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลจากเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ซึ่งมีเรื่องราวเกี่ยวกับแก๊สชีวมวลให้ศึกษามากมายจากทุกมุมโลก


หลังจากที่ได้รวบรวมข้อมูลได้ระยะหนึ่ง ผู้เขียนก็ได้พยายามพัฒนาระบบเตาปฏิกรณ์สำหรับผลิตแก๊สชีวมวลขึ้น สำหรับเดินเครื่องปั่นไฟฟ้าที่มีอยู่ แม้ช่วงที่ผู้เขียนเขียนบทความชุดนี้ การพัฒนาระบบแก๊สชีวมวลของผู้เขียนจะยังไม่สมบูรณ์ หรือยังไม่ถึงขั้นใช้งานได้จริง แต่ก็ได้ประสบการณ์ และพบปัญหาอุปสรรค์ที่ต้องพัฒนาต่อ

วันพุธที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2557

หลอดฟลูออเรสเซ็นต์หรือหลอดนีออน 12 โวลต์ กับแบตเตอรี่ 3 ลูก



นอกจากโคมไฟตุ๊กตาที่ได้รับการชาร์จไฟเก็บไว้ขณะที่มีการเดินเครื่องปั่นไฟเพื่อสูบน้ำแล้ว ทางครอบครัวผู้เขียนได้ซื้อแบตเตอรี่รถยนต์ใหม่ขนาด 70 แอมป์มา 1 ลูก, แบตเตอรี่รถยนต์เก่า 50 แอมป์ 1 ลูก และมีผู้บริจาคแบตเตอรี่รถ 10 ล้อเก่า ขนาด 120 แอมป์มาให้อีก 1 ลูก
การชาร์จไฟเข้าแบตเตอรี่
 
เครื่องปั่นไฟเบอรารา รุ่น TP 3600A ที่ซื้อมาใช้งาน จะมีลักษณะพิเศษอยู่ประการหนึ่ง คือ เครื่องปั่นไฟสามารถจ่ายกระแสไฟฟ้า เป็นไฟฟ้ากระแสตรง 12 โวลต์ได้ โดยสามารถให้ปริมาณกระแสไฟประมาณ 8 แอมป์ต่อชั่วโมง กระแสไฟฟ้าที่จ่ายออกมานั้นจะอยู่ที่ประมาณ 18 โวลต์ ซึ่งเพียงพอสำหรับการชาร์จเข้าแบตเตอรี่ 12 โวลต์ได้พอดี ผู้เขียนจึงต่อสายไฟจากเครื่องปั้นไฟมาที่แบตเตอรี่ลูกใหญ่สุด แล้วนำแบตเตอรี่ที่เหลือมาต่อขนานกันอีก 2 ลูก
 
ขาหลอดนีออน 12 โวลต์
 
การนำไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ทั้ง 3 ลูกมาใช้ ผู้เขียนได้ซื้อขาหลอดไฟนีออนหรือขาหลอดฟลูออเรสเซ็นต์ 12 โวลต์มา 1 ชุด ขาหลอดดังกล่าวจะใช้กับหลอดฟลูออเรสเซ็นต์แบบยาวขนาด 20 วัตต์ที่ใช้กับไฟฟ้า 220 โวลต์ซึ่งมีขายตามร้านขายหลอดไฟทั้วไป

ผู้เขียนได้ตจากมาติดตั้งใกล้กับแบตเตอรี่ทั้ง 3 ลูก เวลาใช้งานจะใช้ปากคีบต่อสายไฟมาจากขาหลอดไฟไปที่แบตเตอรีลูกแรกสุด (ลูกที่ต่อมาจากเครื่องปั้นไฟ)

อย่างไรก็ดี หลังจากที่ผู้เขียนเดินสายไฟระบบไฟฟ้า 12 โวลต์ทั้วบ้านแล้ว ระบบให้แสงสว่างจากแบตเตอรี่ทั้ง 3 ลูกก็ไม่ได้ใช้งานอีก แต่ได้แยกแบตเตอรี่จำนวน 2 ลูก ไปติดตั้งตามเสาบ้านต่อพ่วงกับระบบไฟฟ้า 12 โวลต์ที่จัดทำไว้แทน เหลือแบตเตอรี่ตั้งไว้หน้าเครื่องปั่นไฟเพียงลูกเดียว และสายไฟจากแบตเตอรี่ลูกดังกล่าวเข้ากับระบบไฟฟ้า 12 โวลต์ของบ้านด้วย เวลาเดินเครื่องปั่นไฟ ก็จะต่อสายไฟจากจุดจ่ายไฟ 12 โวลต์ของเครื่องปั่นไฟมาที่แบตเตอรี่ลูกดังกล่าว ซึ่งทำให้กระแสไฟไหลไปชาร์จลงแบดตเตอรีลูกอื่นๆ ของระบบไฟฟ้า 12 โวลต์ที่วางไว้ตามเสาต่างๆ พร้อมกันไปด้วย

สำหรับขาหลอดฟลูออเรสเซ็นต์ ผู้เขียนได้จัดซื้อเพิ่มมาอีกจำนวน 4 ชุด เสียใช้การไม่ได้ไป 1 ชุด ที่เหลือได้นำไปติดตั้งกระจายตามจุดต่างๆ ของบ้าน โดยจะติดตั้งไว้ใกล้กับเสาบ้านที่แบตเตอรี่ตั้งอยู่ เนื่องจากหลอดฟลูออเรสเซ็นต์ที่ใช้กับระบบไฟฟ้ากระแสตรง 12 โวลต์ ถ้าติดตั้งไว้ห่างจากแหล่งกำเนิดไฟฟ้ามากๆ จะทำให้หลอดไม่สว่าง และหลอดเสื่อมเร็ว หรืออาจจะไม่ติดเลย และหลังจากที่ผู้เขียนได้จัดทำระบบไฟฟ้ากระแสตรง 12 โวลต์สำหรับใช้ภายในบ้านเรียบร้อยแล้ว หลอดฟลูออเรสเซ็นต์หรือหลอดนีออนก็ไม่ค่อยได้ใช้งาน เนื่องจากเป็นหลอดไฟฟ้าที่กินไฟมากกว่าดวงไฟแอลอีดี และหลอดเสียบ่อยเนื่องจากกระแสไฟฟ้าในสายต่ำกว่า 11 โวลต์ ดังนั้นระบบการให้แสงสว่างภายในบ้านขณะที่ทำบทความชุดนี้ จึงได้จากดวงไฟแอลอีดีทั้งหมด [ศึกษาเพิ่มเติมได้จากบทความชุด ”ชีวิต 12โวลต์”]

ปั่นไฟสูบน้ำในเวลากลางวัน ทำอย่างไรจึงจะทำให้มีไฟฟ้าให้แสงสว่างยามค่ำคืน



โคมไฟตุ๊กตา

โจทย์ปัญหาที่เราต้องแก้ไขในช่วงระหว่าง 10 วันที่ยังไม่ได้ปลดสายไฟ คือ จะทำอย่างไรให้มีไฟฟ้าสำหรับแสงสว่างยามค่ำคืน เพราะถ้าเติมน้ำมันเพื่อปั้นไฟฟ้าสำหรับให้แสงสว่างเวลากลางคืนเพียงอย่างเดียวคงไม่คุ้มแน่


ผู้เขียนได้สำรวจในตลาด พบว่าตามร้านขายอุปกรณ์ไฟฉายตามตลาดนัด มีโคมไฟตุ๊กดารูปสัตว์หลากหลายแบบ โคมไฟตุ๊กตาเหล่านี้ราคาประมาณ 100 ถึง 200 บาท ภายในตุ๊กตาที่เป็นฐานของโคมไฟจะมีแบตเตอรี่ขนาด 4 โวลต์ติดตั้งอยู่ และมีปลั๊กสำหรับเสียบกับไฟฟ้าบ้านทั่วไป เมื่อนำโคมไฟตุ๊กตาเสียบปลั๊กไฟ ไฟฟ้าจะชาร์จเก็บไว้ในแบตเตอรี่ของโคมไฟ ซึ่งทำให้สามารถให้แสงสว่างได้โดยไม่ต้องเสียบปลั๊กไฟไว้ตลอดเวลา ผู้เขียนได้ซื้อโคมไฟตุกตาเหล่านี้มา 7-8 ตัว นำมาติดตั้งในจุดต่างๆ ภายในบ้าน และต่อสายไฟจากโคมไฟเสียบปลั๊กของไฟบ้านไว้ และเปิดใช้เวลากลางคืน โดยสามารถเปิดทิ้งไว้ได้ทั้งคืน โดยปรกติโคมไฟตุ๊กตาเหล่านี้จะมีอายุใช้งานประมาณ 1 ปีแบตเตอรี่ของโคมไฟจะเริ่มเสื่อม ซึ่งถึงเวลานั้นผู้เขียนคิดว่าน่าจะสามารถหาระบบให้แสงสว่างที่ดีกว่ามาทดแทนได้
 
โคมไฟแอลอีดีแบบรีโหม 

ดวงไฟอีกประเภทหนึ่งที่หาได้ยากมากสำหรับในเขตชนบท คือดวงไฟแอลอีดีแบบรีโหมท ราคาประมาณ 200 – 500 บาท ผู้เขียนพบในตลาดนัดคลองถมเพียง 2 ดวง เจ้าของร้านบอกว่าไม่ได้สั่งมาขายอีกเพราะไม่มีใครซื้อ แต่อย่างไรก็ดีดวงไฟแบบนี้มีขายในแคตตาล็อกผ่านตัวแทนจำหน่ายตามหมู่บ้าน แต่ก็พบเห็นไม่บ่อยนัก ดวงไฟแบบนี้จะใช้กับเต้าหลอดไฟแบบมีใส้ที่นิยมใช้ในสมัยก่อน (ใช้กับไฟฟ้าบ้านปรกติ) มีทั้งแบบเขี้ยว และแบบเกลียว เป็นดวงไฟที่มีแบตเตอรี่ในตัวเช่นเดียวกัน และมีวงจรชาร์จไฟอยู่ภายใน เมื่อไฟฟ้าในแบตเตอรี่ภายในดวงไฟเต็มวงจรชาร์จไฟดังกล่าวจะตัดการชาร์จอัตโนมัติ
การเปิด/ปิดไฟ จะใช้รีโหมทที่มาพร้อมกับดวงไฟในการควบคุมการเปิด/ปิด ดวงไฟประเภทนี้จริงๆ เหมาะสำหรับติดในจุดต่างๆ ของบ้านเรือนทั่วไป เวลาไฟฟ้าจากสายส่งของการไฟฟ้าดับ ดวงไฟเหล่านี้ยังให้แสงสว่างได้ แต่ชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่รู้จักวิธีใช้ นอกจากนี้ดวงไฟแอลอีดีแบบรีโหมทนี้ค่อนข้างจะทนทานของสมควร ดวงไฟแบบรีโหมดที่ผู้เขียนซื้อมาได้ 2 ดวงแรกยังใช้การได้จนถึงทุกวันนี้

ในช่วง 10 วันที่ยังไม่ได้ปลดสายไฟ ผู้เขียนได้ติดตั้งดวงไฟเหล่านี้ไว้ทั่วบ้าน และหลังจากครอบครัวผู้เขียนไม่มีไฟฟ้าใช้ เวลาที่เดินเครื่องปั้นไฟสูบน้ำ ไฟฟ้าส่วนหนึ่งจะชาร์จลงแบตเตอรี่ของโคมไฟตุ๊กตาเหล่านี้ ทำให้บ้านผู้เขียนมีแสงสว่างจากไฟฟ้าใช้แม้จะไม่ได้ต่อไฟฟ้ามาจากระบบสายส่งของการไฟฟ้า

วันจันทร์ที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2557

เครื่องปั่นไฟกับการแก้ปัญหาไม่มีไฟฟ้าใช้ในเบื้องต้น




จะเลือกเครื่องปั่นไฟหรือเครื่องสูบน้ำที่ใช้น้ำมันดี

  ในช่วง 10 วันแรกที่เพื่อนบ้านสั่งให้ปลดสายไฟออกนั้น ผู้เขียนและครอบครัวได้ตัดสินใจร่วมกันว่า จะต้องซื้อเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้า (Electric Genertor) เพื่อมาใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าสำหรับการสูบน้ำ ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการทำการเกษตร ซึ่งแต่เดิมที่บ้านผู้เขียนยังใช้ไฟฟ้าจากระบบสายส่งอยู่นั้น การสูบน้ำใช้และน้ำเพื่อการเกษตรของครอบครัวผู้เขียน จะใช้ปั้มหอยโข่งขนาดท่อ 1 นิ้ว ใช้ไฟฟ้า 220 โวลต์ ขนาดกำลัง 750 วัตต์ หรือประมาณ 1 แรงม้า สามารถสูบน้ำได้ประมาณ 1,300 ลิตรต่อชั่วโมง ความแรงของน้ำทีได้สามารถรดน้ำด้วยหัวสปริงเกอร์เบอร์ 444 ได้พร้อมกัน 4 – 5 หัว เมื่อไม่มีไฟฟ้าใช้เครื่องสูบน้ำไฟฟ้าดังกล่าวก็จะไม่ได้ถูกใช้งาน
แต่อย่างไรก็ดี ครอบครัวของผู้เขียนมีความจำเป็นต้องใช้น้ำทั้งเพื่อการเกษตรและใช้ในครัวเรือน จึงต้องหาทางเลือกสำหรับการแก้ปัญหานี้ และทางเลือกหนึ่งก็คือ ซื้อเครื่องสูบน้ำที่ใช้น้ำมันมาใช้แทน ซึ่งหากตัดสินใจเลือกหนทางนี้ เครื่องสูบน้ำไฟฟ้าที่ใช้อยู่เดิมก็จะต้องถูกวางทิ้งไว้เฉยๆ ไม่ได้ใช้งานอีก แต่ถ้าตัดสินใจเลือกซื้อเป็นเครื่องปั่นไฟฟ้าที่ใช้น้ำมัน ก็จะสามารถผลิตไฟฟ้าที่ใช้กับเครื่องสูบน้ำไฟฟ้าที่มีอยู่เดิมได้ และยังมีไฟฟ้าเหลือไปใช้ในกิจกรรมอื่นๆ ได้อีก หากต้องการใช้ไฟฟ้าเพื่องานอื่นๆ เช่นใช้กับสว่านไฟฟ้า, เลื่อยไฟฟ้า หรือยกไปปั่นไฟใช้ในพื้นที่ที่ไฟฟ้าไปไม่ถึง ซึ่งจะได้ประโยชน์ที่หลากหลายกว่า
 
หน้าตาเครื่องปั่นไฟ BERALA ที่ซื้อมา

ด้วยเหตุนี้จึงได้ข้อสรุปว่า ซื้อเป็นเครื่องปั่นไฟฟ้าเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับตอนนี้ จึงตัดสินใจซื้อเครื่องปันไฟฟ้าที่ใช้น้ำมันเบนซิน ยี่ห้อ BERALA รุ่น TB3600A ราคาที่ซื้อในตลาดท้องถิ่นในขณะนั้น (ธันวาคม 2012) ประมาณ 12,000 บาท (ขณะที่ทำบทความชุดนี้เหลือไม่ถึง 7,000 บาท) เครื่องปั่นไฟดังกล่าวตามสเปกสามารถผลิตไฟฟ้าได้สูงสุด 3600 วัตต์ แต่ในการใช้งานจริงไม่ควรจะให้เกิน 2,800 วัตต์
 
จากประสพการณ์การใช้เครื่องปั่นไฟดังกล่าว พบว่าการเดินเครื่องเพื่อผลิตไฟฟ้า ตัวเครื่องจะกินน้ำมันประมาณ 1 ลิตรต่อ 1 ชั่วโมง ที่ขนาดกำลังไฟไม่เกิน 1,500 วัตต์ ถ้าใช้กำลังไฟมากกว่านี้เครื่องปั่นไฟดังกล่าวจะกินน้ำมันมากขึ้น เครื่องจะเร่งและผ่อนความเร็วเครื่องอัตโนมัติตามกำลังไฟฟ้าที่ใช้
 
การต่อสายไฟจากเครื่องปั่นไฟ เข้ากับระบบไฟฟ้าภายในบ้าน
 
เนื่องจากระบบสายไฟภายในบ้านของผู้เขียนเดิมเป็นระบบไฟฟ้า 220 โวลต์ ดังนั้นเมื่อซื้อเครื่องปั่นไฟเครื่องนี้มา ก็สามารถต่อสายไฟจากเครื่องเข้ากับสายไฟที่ต่อจากสายไฟของระบบสายส่งได้ทันที และเนื่องจากหลังจากเพื่อนบ้านขอให้ปลดสายไฟ สายของที่บ้านผู้เขียนก็ไม่ได้ต่อกับสายไฟของระบบสายส่งของการไฟฟ้าฯ ทำให้สามารถต่อสายไฟจากเครื่องปั่นเข้าระบบไฟฟ้าภายในบ้านได้โดยตรง
 
สำหรับบ้านทั่วไปควรต่อผ่านคัตเอาท์แบบ 2 ทางแทนการต่อตรง
 
แต่อย่างไรก็ดี หากระบบไฟฟ้าภายในบ้านของเรายังต่ออยู่กับระบบสายส่งของการไฟฟ้าฯ อยู่ ก็ไม่ควรต่อสายไฟจาเครื่องปั่นไฟเข้ากับระบบไฟฟ้าภายในบ้านโดยตรง แต่ควรจะต้องติดคัดเอาท์แบบ 2 ทางแล้วต่อผ่านคัทเอาท์ดังกล่าวแทน คือเมื่อไฟฟ้าของการไฟฟ้าดับก็ให้สับคัทเอาท์มาที่เครื่องปั่นไฟ แล้วใช้ไฟฟ้าจากการผลิตของเครื่องปั่นไฟแทน แต่เมื่อไฟฟ้าของการไฟฟ้าใช้ได้ตามเดิมให้สับสวิชกลับมาที่สายส่งของการไฟฟ้า ทั้งนี้เพื่อไม่ให้กระแสไฟฟ้าจากเครื่องปั่นไฟฟ้าของเราไหลเข้าสู่ระบบสายส่งของการไฟฟ้าฯ ซึ่งอาจจะเป็นอันตรายกับเจ้าหน้าที่การไฟฟ้าที่กำลังปฏิบัติงานซ่อมสายไฟอยู่ในขณะนั้นได้

TrafficG Banner Exchange.

payup.video 468x60

Surfe.be - Banner advertising service

Sufe.be

Surfe.be - Banner advertising service

faucetpay.io

Surfe.be - Banner advertising service